วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2550

SIM อุปกรณ์สำคัญที่ไม่ Sim(ple)

SIM card เป็นชื่อย่อมาจาก Subscriber Identity Module อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆที่เป็นหัวใจสำคัญในเครื่องโทรศัพท์ (ปกติฝรั่งจะเรียกโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใส่ SIM ว่า Mobile Equipment แต่ถ้าใส่ SIM ไปแล้วเรียกว่า Mobile Station) พวกเราคงคุ้นเคยกับมันดี


โดยปกติ SIM card จะมีอยู่ 2 ขนาด คือ ขนาดเท่าบัตรเครดิต ที่เรียกกันว่า smart card (85.60 mm × 53.98 mm x 0.76 mm) และ ขนาดเล็กที่เราเห็นอยู่ทั่วไปในโทรศัพท์มือถือ (25 mm x 15 mm x 0.76 mm) ภายใน SIM รุ่นใหม่ๆจะมีขนาดของหน่วยความจำตั้งแต่ 32 Kbyte ถึงขนาด 1 Gbyte แต่โดยทั่วไปจะใช้ขนาด 16-32 Kbyte

SIM มีเลขประจำตัวของมันอยู่เรียกว่า ICCID (International Circuit Card ID) ซึ่งเป็นเลข 19 หลักพิมพ์อยู่บนด้านหลัง หน้าที่ของ SIM คือ ใช้เก็บข้อมูลสำคัญๆในการระบุหมายเลขของโทรศัพท์มือถือ ที่เรียกกันว่า International Mobile Subscriber Identity (IMSI) ซึ่งไม่ใช่เลขหมายที่เราใช้งานกันทั่วไป แต่เป็นเลขเฉพาะที่ใช้อ้างอิงในเครือข่าย, เลขในการเข้ารหัส Ki (Authentication Key), รหัส PIN (Personnal Identity Number), บริการเสริมอื่นๆ และเก็บตำแหน่งของสถานีฐาน LAI (Location Area Identity) ไว้ เพื่อใช้อ้างอิงเปรียบเทียบกับตำแหน่งปัจจุบัน เวลาเราเปิดเครื่อง เครือข่ายจะได้รู้ว่าเราย้ายตำแหน่งจากเดิมไปอยู่ที่ไหนยังไงละครับ

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2550

GSM สามตัวอักษรที่ยิ่งใหญ่ในโลกไร้สาย


หลายๆคนอาจจะรู้จักว่า GSM ซึ่งเป็นคำมาตรฐานในการเลือกใช้งานระบบโทรศัพท์มือถือไปเรียบร้อยแล้ว คำว่า GSM เป็นคำดั้งเดิมมาจาก Group Special Mobile เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1982 โดยมีคณะกรรมการ Conference of European Posts and Telecommunications (CEPT) ดูแลและกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อใช้งานกันได้ในหลายประเทศทางแถบยุโรป เหมือนกับวิทยุ FM, AM นั่นแหละครับ ที่จะต้องมีการกำหนดว่า ใช้ช่วงความถี่เท่าไหร่ แต่ละช่องห่างกันเท่าไหร่ ความถี่ถึงจะไม่กวนกัน วิทยุทรานซิสเตอร์รุ่นเก่าที่รับได้แต่สถานี AM ก็จะรับสถานีจาก FM ไม่ได้ เช่นเดียวกัน GSM ก็เป็นมาตรฐานการใช้คลื่นความถี่รับส่ง การเข้ารหัสสัญญาณระหว่าง โทรศัพท์มือถือและสถานีฐาน ในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อจาก Group Special Mobile มาเป็น Global System for Mobile communications GSM เป็นระบบที่มีการใช้งานกันมากที่สุดในโลกประมาณการว่ามีเครือข่ายในระบบมากกว่า 212 ประเทศทั่วโลกและมีผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านคน หรือ 82% ของจำนวนผู้ที่ใช้บริการ จากรายงานของ PRNewswire และ GSM Association

และความเป็นมาตรฐานที่หลายๆประเทศใช้งานกัน จึงทำให้การ roaming หรือการนำโทรศัพท์มือถือไปใช้งานยังอีกประเทศหนึ่งสามารถทำได้สะดวกและง่ายดาย

ปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือหลายๆรุ่นสามารถจะเลือกใช้งานได้หลายย่านความถี่ เช่น
  • GSM-850 ใช้งานย่านความถี่ ตั้งแต่ 824-894 MHz
  • GSM-900 ใช้งานย่านความถี่ ตั้งแต่ 890-960 MHz
  • GSM-1800 ใช้งานย่านความถี่ ตั้งแต่ 1710-1880 MHz
  • GSM-1900 ใช้งานย่านความถี่ ตั้งแต่ 1850-1990 MHz

ประเทศในทวีปอเมริกา แคนาดาจะใช้ GSM-850 และ GSM-1900 (ย่านความถี่นี้ในอเมริกามีใช้ด้วยกันหลายระบบทั้ง GSM, CDMA และ D-AMPS เรียกรวมๆกันว่า Personal Communications Service หรือ PCS) ส่วนยุโรปจะใช้ GSM-900 และ GSM-1800

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก wikipedia

สังเกตุดูโทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้จะบอกไว้ว่า โทรศัพท์รุ่นนี้สามารถใช้งานย่านใดได้บ้าง

  • Dualband หมายถึง ใช้งานได้ 2 ย่านความถี่ คือ 900/1800 MHz

  • Triband หมายถึง ใช้งานได้ 3 ย่านความถี่ คือ 900/1800/1900 MHz

  • Quadband หมายถึง ใช้งานได้ 4 ย่านความถี่ คือ 850/900/1800/1900 MHz

ในประเทศไทยมีการใช้งานย่านความถี่ 900 MHz สำหรับ AIS และ 1800 MHz สำหรับ Dtac และ TrueMove ครับ ส่วนย่านความถี่ 1900 MHz เป็นของ ThaiMobile
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก GSMworld

ปัจจัยที่ 5 ที่ก้าวเข้ามาสู่ชีวิตของเรา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคมไปเรียบร้อยแล้ว มองไปทางไหนตั้งแต่วนิพกพเนจร ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง หรือเด็กอนุบาลที่พอจะสื่อสารได้ จนไปถึงคนแก่ที่สื่อสารกันไม่ค่อยได้ นับตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของการติดต่อสือสารจากรูปแบบ Place to Place คือมีเบอร์โทรศัพท์ประจำบ้าน หรือที่ทำงานติดบนนามบัตร ใครจะโทรมาหาก็ต้องโทรเข้ามาที่ๆกำหนด อยู่ก็รับ ไม่อยู่ก็ต้องโทรมาใหม่ หรือฝากเครื่องบันทึกเสียง พัฒนามาเป็นระบบเพจเจอร์ ที่ต้องวิ่งหาโทรศัพท์โทรกลับ และในที่สุด ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทั้งมวล การติดต่อสื่อสารในโลกปัจจุบันก็กลายมาเป็น Person to Person ช่วยย่อโลกทั้งใบให้ใกล้เข้าไปเรื่อยๆ ความสะดวกสบาย รวมทั้งพลังอำนาจในการสื่อสาร ทั้งรูปแบบของข้อมูลเสียง ภาพ ความบันเทิง ประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ถูกจัดเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กๆเพียงเครื่องเดียว อืม... ไม่น่าเชื่อจริงๆ

หลายๆคนที่กำลังอ่าน blog นี้อยู่ คงไม่ต้องบอกว่า มีีโทรศัพท์มือถือติดต่อกันบ้างหรือไม่ ถ้าคุณสามารถเล่น internet ได้ ผมเข้าใจว่าคงมีโทรศัพท์มือถือที่ถูกใจอยู่ข้างๆตัวคุณแน่นอน ผมพยายามจะสร้าง blog แห่งนี้ให้เป็น แหล่งความรู้เล็กๆที่เข้าใจง่ายเกี่ยวกับ mobile network นวัตกรรมของโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ หรืออาจเป็นกระจกสะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง และใครหลายคนในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับสังคมไร้สาย แต่ไม่ไร้ซึ่งสายสัมพันธ์แห่งนี้

ยินดีต้อนรับครับ